ประวัติโรงเรียน
|
ประวัติความเป็นมา
โรงเรียนบ้านบุรินทร์(บุญชอบ สาครินทร์) ตั้งอยู่ที่หมู่ ๒ ต.ลิดล อ.เมือง จ.ยะลา มีเนื้อที่ทั้งหมด ๑ ไร่
๒ งาน ๗๕ ตารางวา เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๗๙ ได้ใช้ชื่อครั้งแรกว่า “โรงเรียนประจำตำบล ลิดล” โดยมีนายเชือน ไชยะโท เป็นครูใหญ่คนแรก
พ.ศ. ๒๔๙๕ ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียน จาก โรงเรียนประจำตำบลลิดล เป็น โรงเรียนบ้านบุ๊ ซึ่งตรงกับหมู่บ้านที่ตั้งของโรงเรียน
พ.ศ. ๒๔๙๘ ทางราชการได้สร้างอาคารเรียนขึ้นใหม่ แทนอาคารเก่าที่ชำรุดเป็นแบบป.๑ ก ขนาด ๙x๒๗ เมตร จำนวน ๓ ห้องเรียน ปรากฏว่าเงินงบประมาณที่ทางราชการจัดสรรให้ไม่เพียงพอ จึงขอรับการบริจาคเงินสมทบเพิ่มเติม โดยมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาค ดังนี้ นายบุญชอบ สาครินทร์ นายเอื้อน กระแสรัตน์ นางสงวน ทองสั้น ราษฎรหมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๒ ต.ลิดล เพื่อเป็นเกียรติแก่นายบุญชอบ สาครินทร์ ซึ่งได้บริจาคเงินจำนวนมากที่สุด ทางราชการจึงได้เพิ่มชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนบ้านบุ๊(บุญชอบ สาครินทร์)
พ.ศ. ๒๕๑๖ ทางโรงเรียนได้รับงบประมาณจากทางราชการ สร้างอาคารเรียนขึ้นใหม่เป็นแบบ ๐๑๗ เนื่องจากพื้นที่ของโรงเรียนไม่เพียงพอ จึงได้รื้อถอนอาคาร ป.๑ ก
วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๔๒๘ เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนจากเดิม โรงเรียนบ้านบุ๊(บุญชอบ สาครินทร์) มาเป็นโรงเรียนบ้านบุรินทร์(บุญชอบ สาครินทร์)
อาณาเขตโรงเรียน
ทิศเหนือ จรดถนนเข้าหมู่บ้าน บ้านบุ๊
ทิศใต้ จรดที่ดินนางสงวน ทองสั้น
ทิศตะวันออก จรดที่ดินนางสงวน ทองสั้น
ทิศตะวันตก จรดถนนแผ่นดินสายที่ ๔๐๙ (ยะลา - นาเกตุ)
เขตบริการของโรงเรียน
หมู่ที่ ๑ ตำบลลิดล อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
หมู่ที่ ๒ ตำบลลิดล อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
ลักษณะชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่
ชุมชนบ้านบุ๊ เป็นชุมชนเก่าแก่ มีการตั้งถิ่นฐานมานาน การคมนาคมอาศัยถนนหลวงและทางน้ำ
๒หมู่ที่ ๑ ตำบลลิดล เป็นชุมชนที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและภาษาไทยภาคใต้
ในการติดต่อสื่อสารกัน ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม ค้าขาย และรับจ้าง
หมู่ที่ ๒ ตำบลลิดล เป็นชุมชนที่นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม ในปริมาณที่เท่าเทียมกัน ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและภาษาไทยภาคใต้ติดต่อสื่อสารกัน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านเกษตร ค้าขาย รับจ้างและรับราชการ
ปัจจุบัน โรงเรียนบ้านบุรินทร์(บุญชอบ สาครินทร์) ตั้งอยู่ในเขตรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลลิดล อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
ลักษณะภูมิประเทศ
ที่ตั้งโรงเรียนเป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา มีลำคลองไหลผ่าน ฤดูน้ำหลากในบางปีมีน้ำท่วมขัง
การคมนาคม
ใช้ทางหลวงแผ่นดินในการคมนาคม ผู้ปกครองส่วนใหญ่ใช้รถมอเตอร์ไซด์ รถยนต์ส่วนตัวและรถรับจ้างในการเดินทาง
สภาพสังคม
ชุมชนที่ตั้งโรงเรียนเป็นชุมชนที่นับถือศาสนาอิสลาม และพุทธศาสนา ประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม มีความเคร่งครัดตามคำสอนในพระคัมภีร์อัลกุรอาน มีมัสยิดเป็นศาสนสถานสำหรับประกอบพิธีทางศาสนา มีศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา ได้แก่ การทำพิธีละหมาดในวันศุกร์ที่มัสยิด การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน พิธีเข้าสุนัต ประเพณีกวนฮาซูรอ พิธีสมรสแบบมุสลิม งานทำบุญต่างๆ เป็นต้น
ส่วนที่นับถือศาสนาพุทธ ก็มีสังคมแบบชาวพุทธ ที่มีความสนิทสนมกัน เป็นเครือญาติกันยึดถือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีชาวไทยพุทธ เช่น การบวช ประเพณีรับเทวดา ประเพณีชักพระ ภาษาที่ใช้คือ ภาษาไทยท้องถิ่น
สภาพเศรษฐกิจ
ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา ทำสวนยางพารา ทำสวนผลไม้ อาชีพค้าขาย และรับจ้าง เป็นต้น รายได้ประชากรโดยเฉลี่ย ประมาณเดือนละ ๓,๐๐๐ บาท
โอกาสของโรงเรียนกับความร่วมมือในด้านต่างๆ ของชุมชน
สภาพของชุมชนยังมีสภาพของชุมชนชนบทกึ่งชุมชนเมือง ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีที่ดีงาม เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ของนักเรียน
ข้อจำกัดของโรงเรียนกับความร่วมมือของชุมชน
- สภาพเศรษฐกิจของชุมชนค่อนข้างยากจน ประชาชนส่วนใหญ่ใช้เวลาในการประกอบอาชีพ ทำให้ไม่มีเวลาที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาเท่าที่ควร
- เหตุการณ์ความไม่สงบของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ประชาชนหวาดกลัว ขาดความมั่นใจในการดำเนินชีวิตและการพัฒนาการศึกษา
|